วันพฤหัสบดีที่ 16 กันยายน พ.ศ. 2553

โครงสร้างแนวคิดปฏิรูปการศึกษาตั้งแต่ชั้น อนุบาล – ปริญญาเอก

โดย ศจ.นิรุทธิ์ จันทร์ก้อน


โครงสร้างแนวคิดปฏิรูปการศึกษาตั้งแต่ชั้น อนุบาล – ปริญญาเอก (แบบเดิมที่ดีอยู่แล้ว ก็ให้ทำต่อไป)


คำนำ


ปัจจัยความเจริญของประเทศไม่ได้ขึ้นอยู่กับทรัพยากรธรรมชาติอย่างเดียว แต่ขึ้นอยู่กับทรัพยากรมนุษย์ เพราะมนุษย์เป็นทรัพยากรที่มีคุณค่าที่สุด ถ้ามนุษย์ถูกสร้างให้มีปัญญา แม้ไม่มีวัตถุดิบทางธรรมชาติ ก็สามารถนำมาจากประเทศอื่นได้ แต่ประเทศไทยมีทั้งทรัพยากรธรรมชาติที่อุดมสมบูรณ์ และทรัพยากรมนุษย์ที่ยังไม่ได้ถูกสร้างให้เป็นทรัพย์ที่มีคุณค่า เพราะขาดการศึกษาที่ไม่บูรณาการเน้นวัตถุ ไม่ได้เน้นด้านจิตวิญญาณควบคู่กันไป คนในประเทศส่วนใหญ่จึงเป็นคนไม่ครบ เป็นคนขาดวิสัยทัศน์ ขาดความรู้ลึก รู้กว้าง รู้ไกล




จึงใคร่ขอเสนอแนวคิดการปฏิรูปการศึกษาดังนี้




1. การศึกษาต้องไม่เพียงป้อนข้อมูลในห้องเรียนอย่างเดียว ไม่ใช่มุ่งปริญญาอย่างเดียว แต่ต้องมุ่งยกระดับปัญญา ความรู้คุณธรรมใน 3 มิติอย่างจริงจัง




1.1 ต้องมีการศึกษาให้คนสามารถประยุกต์ใช้เป็น วิเคราะห์ใช้เป็น ไม่ใช่ป้อนข้อมูลให้อย่างเดียว สามารถใช้ทักษะความคิดวิเคราะห์ความรู้ สามารถนำไปใช้ในชีวิตประจำวัน การทำงาน สังคม ให้ผู้เรียนสามารถปลดปล่อยสถานะภาพในภาคปฏิบัติได้จริง สามรถทดลองทำวิจัย และทำอื่นๆได้ ฯลฯ




1.2 ต้องมีกระบวนการฝึกผู้เรียนให้คิดอย่างเป็นระบบ พัฒนานำความรู้ไปต่อยอดจากฐานเดิม โลกต้องการกำลังคนที่มีคุณภาพจำนวนมากที่มีความเป็นผู้นำในวิถีโลก และสามารถเป็นผู้นำเชิงรัฐบุรุษได้ การศึกษาที่ครบวงจร ที่บูรณาการ ที่รู้ลึก รู้กว้าง รู้ไกล จึงมีความจำเป็นสำหรับประเทศไทย และจำเป็นอย่างยิ่งต้องเน้นต้องสร้างการศึกษาแนวนี้ ให้มีความคิด ความอ่าน มีเหตุมีผล มีศักยภาพ มีวุฒิภาวะที่จะนำประเทศไปสู่คุณภาพ คุณธรรม และมีความสุขได้




2. การศึกษาเพื่อความเชี่ยวชาญในวิชาชีพแขนงต่างๆ ที่เป็นคำตอบของประเทศและของโลกได้




2.1 การศึกษาเพื่อประโยชน์ของคน เพื่อสร้างคนให้เป็นเครื่องมือประกอบวิชาชีพ เพื่อความอยู่รอด เป็นสิ่งสำคัญและจำเป็น ซึ่งปัจจุบันก็ทำมากมายอยู่แล้ว แต่ต้องทำต่อไป




2.2 การศึกษาเพื่อความเป็นผู้นำ ทำโดยไม่ต้องบอก มีความคิดริเริ่ม สร้างสรรค์ มีความเป็นผู้นำ มีความกระตือรือร้น




2.3 การศึกษาที่สอนคนให้คิด ที่สามารถสร้างสรรค์ คิดบวก เป็นการศึกษาที่จำเป็นต้องมีครูสอนที่เป็นผู้นำในการสร้างและรับการอบรมเป็นอย่างดี




3. การศึกษาเพื่อยกระดับคุณภาพจิตใจ มีคุณค่ามากกว่าเสือ สิงห์ กระทิง แรด ที่อยู่ไปวันๆ กิน ดื่ม สืบพันธุ์ ต้องศึกษาเพื่อยกระดับความเป็นมนุษย์ให้เหนือสัตว์ทั้งหลาย การศึกษาเพื่อทำคนให้เป็นคนปกติ ให้ถึงแก่นแท้ของความเป็นมนุษย์ ต้องตอบคำถามได้ว่า มนุษย์เป็นใคร มาจากไหน อยู่ในโลกนี้ทำไม ตายแล้วไปไหน และการศึกษาเพื่อยกคุณภาพชีวิต เพื่อกระตุ้นให้คนไทยได้รับการสร้างให้สมบูรณ์ มีคุณธรรม มีจริยธรรม มีความเข้าใจ มีคุณค่า เข้าใจถึงความหมายของชีวิต เข้าใจในความเป็นคน ความเป็นมนุษย์ที่ต้องอยู่ร่วมกัน สามารถร้อยเรียงความแตกต่างให้เป็นหนึ่งเดียว เคารพความแตกต่าง แต่ไม่แตกแยก




4. การศึกษาต้องมีคุณภาพ ต้องพัฒนาครูอย่างเป็นระบบ




4.1 ครูจะต้องเป็นผู้นำ เพราะผู้นำเป็นอย่างไร ผู้ตาม ผู้เรียนก็จะเป็นอย่างนั้น




4.2 ความเป็นผู้นำ เป็นคนมีคุณธรรม กำหนดความสุข ความสงบ เราจะต้องผลิตครูที่มีอุดมคติ




4.3 เราต้องปรับปรุงการศึกษา ปรับปรุงคุณภาพครูให้หยุดผูกขาดการสอนพูดอยู่คนเดียวตลอดปีตลอดชาติ ครูต้องเรียนรู้อยู่เสมอ ต้องเป็นผู้เชี่ยวชาญเฉพาะสาขาวิชา และในขณะเดียวกันต้องเรียนรู้สหวิทยาควบคู่กันไป




4.4 ครูต้องเป็นผู้นำ ที่นำการเปลี่ยนแปลงมาสู่สังคม




4.5 รายได้ของครูจะต้องสูงมากกว่านี้ จึงจะได้ครูที่มีคุณภาพและมีอุดมการณ์




4.6 ชีวิตครูต้องเป็นแรงบันดาลใจ ต้องประทับใจ ต้องนั่งอยู่ในใจของผู้คน ต้องมีการอบรมสัมมนา ฟื้นฟู เพื่อพูนความรู้ความเข้าใจ พัฒนาความรู้ ความเข้าใจ พัฒนาจิตใจ และคุณภาพ คุณธรรมของครู




5. การศึกษาเพื่ออาสาเป็นบุคคลสาธารณะ เพื่อประโยชน์ของสังคมไทย เพื่อมนุษยชาติ ส่วนรวม




5.1 ขัดเกลาคน สร้างคนให้อาสาเป็นบุคคลสาธารณะ แม้จะเป็นเด็ก เป็นหนุ่มเป็นสาว เยาวชน หรือผู้สูงวัย ก็สามารถสร้างให้เป็นบุคคลที่อาสา เพื่อทำประโยชน์สาธารณะได้




5.2 การศึกษาเพื่ออาสาทำประโยชน์เพื่อสาธารณะนั้นเป็นหัวใจของการศึกษา




5.3 ไม่ใช่ประโยชน์เพื่อตนเอง แต่การศึกษาต้องก้าวผ่านตัวเองไปสู่สังคม ไปสู่มนุษยชาติ เป็นส่วนรวม และทำตนให้เป็นประโยชน์ในโลกใบนี้

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น